ทำไมไม่ควรปล่อยให้ ฟันน้ำนมผุ
เด็กฟันหลอ เพราะ ฟันน้ำนมผุ หนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองอาจมองข้าม เนื่องจากคิดว่าไม่ใช่ฟันแท้ ถึงฟันจะผุก็คงไม่เป็นไร แต่ที่จริงแล้วนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้
ฟันน้ำนมผุ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ฟันน้ำนมผุ เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กมีอายุราว 6 เดือน ซึ่งฟันเริ่มทยอยขึ้นในช่องปาก โดยฟันน้ำนมเป็นฟันชุดแรกที่มีทั้งหมด 20 ซี่ ซึ่งชั้นเคลือบฟันน้ำนมจะมีความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้ และมีองค์ประกอบของแคลเซียมและฟอสฟอรัสน้อยกว่า จึงไม่แปลกที่ฟันน้ำนมจะผุง่ายกว่าฟันแท้ โดยสาเหตุหลักๆ ที่เด็กหลายคนต้องเผชิญกับปัญหาฟันน้ำนมผุ ล้วนเริ่มต้นมาจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง
เด็กในวัยนี้ต้องดื่มนมจากขวด ซึ่งน้ำตาลในนมคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากจะย่อยน้ำตาลจากนมที่ตกค้างบนผิวฟัน จนเกิดเป็นกรดที่ทำลายเคลือบฟันไปเรื่อยๆ จนฟันผุเป็นรูในที่สุด ดังนั้น การปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนมจึงไม่ใช่เรื่องดี นอกจากน้ำตาลในนมแล้ว การรับประทานอาหารหรือขนมหวานเป็นประจำ และไม่ใส่ใจดูแลเรื่องความสะอาดในช่องปากของเด็ก ก็กลายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เด็กในช่วงวัยนี้ฟันผุ ไม่ใช่แค่เท่านั้น ฟันน้ำนมผุได้ง่ายก็อาจเกิดจากโครงสร้างฟันของเด็กไม่สมบูรณ์ อันเนื่องมากจากหลายสาเหตุ เช่น เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ การคลอดก่อนกำหนด
เมื่อฟันน้ำนมผุ จะเกิดอะไรขึ้น!
เราไม่อยากให้ผู้ปกครองมองข้ามปัญหาฟันน้ำนมผุ เพราะเห็นจากหลายๆ คนที่คิดว่า เดี่ยวฟันน้ำนมก็หลุดไป ถึงจะผุก็คงไม่สร้างปัญหาอะไรมาก ถ้าใครกำลังคิดแบบนี้อยู่ ต้องเปลี่ยนความคิดโดยด่วน เพราะปัญหาอาจไม่จบแม้ฟันน้ำนมจะหลุดไปแล้วก็ตาม
- ฟันน้ำนมผุ 1 ซี่ อาจรุกรามไปยังซี่อื่นๆ ใกล้เคียงด้วย หากฟันผุทะลุโพรงประสาท นอกจากอาการปวดฟันจะรุนแรงแล้ว อาจก่อให้เกิดการอักเสบของเหงือก และมีโอกาสติดเชื้อได้ด้วย
- ฟันน้ำนมผุจนต้องถอนทิ้ง อาจกระทบกับฟันแท้ที่ขึ้นตามมา ฟันแท้อาจขึ้นช้ากว่าปกติ หรือเสี่ยงจะเกิดปัญหาฟันซ้อนเกได้มากกว่าปกติ
- ฟันส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เมื่อมีอาการปวดฟัน หรือฟันน้ำนมถูกถอนไป อาจกระทบต่อการบดเคี้ยวอาหาร ลดความอยากอาหาร เด็กจึงมีโอกาสเกิดภาวะขาดสารอาหาร รวมทั้งเกิดปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ช่องปาก และขากรรไกร
- ฟันหลอหรือฟันน้ำนมผุจนมีสีดำคล้ำ ก็เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการล้อเลียนในหมู่เด็กๆ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจสำหรับเด็กบางคน
นอกจากนี้ การปล่อยให้ฟันน้ำนมผุก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่ฟันแท้ที่จะขึ้นตามมาผุได้ง่ายกว่าปกติ เพราะฉะนั้น หากปัญหายังไม่เกิดขึ้น ก็ควรป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนสายเกินแก้ ด้วยการ…
ป้องกันไม่ให้ ฟันน้ำนมผุ ด้วยวิธีเหล่านี้
- เริ่มต้นสอนให้เด็กดื่มนมจากแก้ว และอย่าปล่อยให้เด็กดูดขวดนมนานจนเกินไป หากทำได้ควรให้เด็กเลิกดูดขวดเมื่ออายุ 1-1 ปีครึ่ง
- ฝึกนิสัยไม่ให้เด็กทานขนมจุบจิบทั้งวัน จนติดหวาน ควรจัดสรรเวลาทานอาหารให้เป็นมื้อๆ และเลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ และมีส่วนประกอบของน้ำตาลไม่มากจนเกินไป เช่น ผลไม้
- อย่าลืมให้เด็กบ้วนปากหลังดื่มนม หรือทานอาหารและขนมทุกครั้ง
- แปรงฟันให้เด็กวันละ 2 ครั้ง เช้า และก่อนนอน โดยเลือกยาสีฟันที่มีส่วนประกอบของฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ เมื่อเด็กอายุ 4 ปี ต้องฝึกให้เด็กแปรงฟันอย่างถูกวิธี และปลูกฝังความสำคัญของการแปรงฟัน เพื่อให้เด็กไม่ลืม และไม่กลัวการแปรงฟัน
- พาเด็กไปตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน และค่อยสังเกตสภาพฟันของเด็กอย่างสม่ำเสมอ
ฟันน้ำนมสำคัญไม่แพ้ฟันแท้ ปัญหาฟันน้ำนมผุจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะปล่อยผ่านไปได้ เพื่อสุขภาพฟัน และช่องปากที่ดีของเด็ก การพาเด็กไปพบทันตแพทย์ทันทีเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น ที่ BFC Dental ทุกสาขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาฟันน้ำนมผุ และปัญหาอื่นๆ ตามมาในอนาคต