ฟันคุด ถ้าปล่อยไว้จะเกิดอะไรขึ้น?
ฟันคุด ของคุณขึ้นแล้วหรือยัง? ถ้าขึ้นแล้ว คำถามต่อมาที่จะเกิดขึ้นก็คือ คุณต้องถอนฟันคุดทิ้งหรือไม่ วันนี้ BFC Dental มีคำตอบ
ฟันคุด ลักษณะของฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจไม่ขึ้นโผล่ให้เห็นเลย หรือเห็นไม่เต็มซี่ ซึ่งมักจะพบว่าขึ้นบริเวณฟันกรามซี่ในสุด เมื่อมีอายุราว 17-25 ปี หรือบางคนก็ขึ้นช้ากว่านั้นก็มี ทั้งนี้ฟันคุดที่ขึ้นมาไม่ได้มีรูปแบบเดียว แต่สามารถจำแนกตามความสัมพันธ์กับฟันซี่ข้างเคียง และเหงือกที่คลุมฟันได้ดังนี้
รูปแบบของฟันคุดที่แบ่งตามความสัมพันธ์กับเหงือกที่คลุมฟัน
- ฟันคุดที่ไม่โผล่พ้นกระดูกขากรรไกร
- ฟันคุดที่โผล่พ้นกระดูกขากรรไกรแต่ไม่ทะลุผ่านเหงือก หรือทะลุผ่านได้บางส่วนของซี่ฟัน
รูปแบบของฟันคุดที่แบ่งตามความสัมพันธ์กับฟันซี่ข้างเคียง
- Mesioangular impaction ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟันเข้าหาฟันกรามแท้
- Distoangular impaction ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟันออก
- Vertical impaction ฟันคุดที่ขึ้นตรงๆ
- Horizontal impaction ฟันคุดที่ขึ้นในแนวนอน
สำหรับบางคนอาจคาดเดาได้ว่าฟันคุดน่าจะขึ้น เนื่องจากมีอาการผิดปกติ เช่น อาการอักเสบบริเวณเหงือก ทำให้ต้องพบทันตแพทย์ แต่ใช่ว่าคนที่ไม่มีอาการผิดปกติควรปล่อยฟันคุดไว้ หากไปตรวจเช็กกับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่ก็จะแนะนำให้เอาฟันคุดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับช่องปากตามมาในอนาคต เพราะหากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นคงไม่ดีแน่ ทั้งต่อสุขภาพช่องปาก และการใช้ชีวิตของคุณ
ทำไมต้องถอนหรือผ่าฟันคุดออก ทั้งกรณีฟันคุดที่ขึ้นมาแล้ว และฟันคุดที่ยังไม่ขึ้นมา
- ฟันคุดทำให้ฟันผุ : ซอกฟันที่อยู่ระหว่างฟันคุดกับฟันกรามที่อยู่ติดกันนั้น จะกลายเป็นจุดที่เศษอาหารและคราบสกปรกเข้าไปสะสม ซึ่งทำความสะอาดได้ยาก ยิ่งปล่อยไว้นานก็อาจส่งผลให้เกิดปัญหากลิ่นปาก และทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุได้
- ฟันคุดทำให้เหงือกอักเสบ : ฟันคุดที่งอกขึ้นมาบางส่วนนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกได้ เมื่อไม่สามารถทำความสะอาดได้จะกลายเป็นบ่อเกิดของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อ ปวด บวม และเกิดหนอง ซึ่งอาจลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ เช่น ใต้ลิ้น คอ เป็นต้น
- ฟันคุดทำให้ฟันซ้อนเก : แรงดันที่เกิดจากฟันคุดที่กำลังจะโผล่ขึ้นมา จะส่งผลต่ออวัยวะโดยรอบและฟันซี่อื่นๆ จนอาจทำให้ฟันข้างเคียงเคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง หรือฟันซ้อนเกได้
- ฟันคุดทำให้เกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก : เพราะเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดที่ทิ้งไว้นานอาจขยายใหญ่ จนกลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในขากรรไกรซึ่งจะโตขึ้นได้เรื่อยๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากปัญหานี้ คือ ฟันเคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง กระดูกรอบๆ กร่อนละลาย ยิ่งถุงน้ำใหญ่ขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้ใบหน้าผิดรูป และการสบฟันผิดปกติได้ด้วย
- ฟันคุดทำให้กระดูกละลาย : แรงดันจากฟันคุดที่พยายามขึ้นมานั้นทำให้กระดูกรอบรากฟันและรากฟันในบริเวณใกล้เคียงถูกทำลายได้
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องถอนหรือผ่าฟันคุดออก ซึ่งคงชัดเจนมากพอที่จะทำให้คุณไปตรวจเช็กสุขภาพและ X-ray ฟันกับทันตแพทย์ ว่าฟันคุดของคุณขึ้นแล้วหรือยัง หากขึ้นแล้วต้องมีแผนการรักษาอย่างไร ใครกังวลเรื่องนี้อยู่ สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพฟัน รับคำปรึกษา และวินิจฉัยอาการจากทันตแพทย์โดยตรงได้เลยที่ BFC Dental ทุกสาขา