เหงือกบวม หนึ่งสัญญาณเตือนปัญหาช่องปากที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
รู้สึกเจ็บเหงือก เพราะ เหงือกบวม อีกหนึ่งปัญหาช่องปากที่ดูเหมือนเล็ก แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษาหรือป้องกัน ก็อาจลุกลามใหญ่โตได้มากกว่าที่คุณคิด
ลักษณะ เหงือกบวม หนึ่งสัญญาณเตือนปัญหาช่องปาก
เหงือกบวม ลักษณะของเหงือกที่เปลี่ยนสีจากสีชมพูกลายเป็นสีแดงเข้ม เนื่องจากการอักเสบ ระบม ทำให้เหงือกบวมแดง เมื่อเหงือกที่ทำหน้าที่รองรับแรงจากการบดเคี้ยว และยึดฟันให้ติดกับกระดูกขากรรไกรมีอาการผิดปกติ ย่อมส่งผลกระทบไปถึงส่วนอื่นภายในช่องปากด้วย เช่น เลือดออกขณะแปรงฟัน ระคายเคืองหรือเจ็บบริเวณเหงือก ปวดฟัน เสียวฟัน เป็นต้น ซึ่งคงสร้างความรำคาญใจให้ไม่ใช่น้อย อีกทั้งอาจกลายเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียฟันได้ในอนาคต ดังนั้นหากกำลังเผชิญกับอาการเหล่านี้ คุณควรรีบรักษาและป้องกันให้ดีที่สุด เพราะเหงือกบวมเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและพบได้บ่อยเลยทีเดียว จึงอาจมีโอกาสไม่ใช่น้อยที่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับคุณ เนื่องจากสาเหตุหลายประการเหล่านี้
สาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา เหงือกบวม
อาการเหงือกบวมมักพบในผู้ที่มีความเครียด ขาดสารอาหาร มีภาวะอ้วน ผู้ที่ดูแลสุขภาพช่องปากได้ไม่ดี ผู้ที่สูบบุหรี่หรือยาสูบ
- การแปรงฟันไม่สะอาดหรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ทำให้เกิดการสะสมของคราบพลัคและหินปูนรอบๆ ฟัน เมื่อสิ่งสกปรกเหล่านี้ไม่ถูกกำจัดออกไป แบคทีเรียที่สะสมอยู่อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เหงือกบวมได้
- การแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันผิดวิธี รวมทั้งการเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็งเกินไป
- อุปกรณ์ทางทันตกรรม เช่น เหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์ และฟันปลอม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระคายเคืองและเจ็บบริเวณเหงือก จนทำให้เหงือกบวมแดงได้
- การเปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก ซึ่งอาจกระตุ้นปฏิกิริยาในช่องปาก หรือมีอาการแพ้ส่วนประกอบบางอย่างในผลิตภัณฑ์ จนทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแผลในช่องปากได้
- การติดเชื้อภายในช่องปาก เพราะละเลยการดูแลความสะอาดภายในช่องปาก
- เหงือกบวมเพราะการบาดเจ็บ หรือแผลร้อนในภายในช่องปากที่เกิดขึ้นบริเวณเหงือก
- ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินบีและซี ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของเหงือกและฟัน
- เหงือกบวมเพราะผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดบางประเภท ยากันชักบางชนิด เป็นต้น
- การตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดคราบจุลินทรีย์ภายในช่องปากได้ง่ายกว่าปกติ
- เหงือกบวมเพราะเหงือกอักเสบ และฟันคุด
ด้วยสาเหตุมากมาย จึงไม่แปลกที่เหงือกบวมจะเป็นหนึ่งในปัญหาที่พบได้บ่อย โดยอาการเหงือกบวมมีทั้งระดับไม่รุนแรง แต่ก็ไม่ควรละเลยปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะอาจลุกลามกลายเป็นปัญหารุนแรงได้ โดยเหงือกบวมที่มีอาการรุนแรง หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที
7 อาการ เหงือกบวม ที่ควรไปพบแพทย์
- เหงือกบวมจากกระดูกงอก โดยตุ่มกระดูกก้อนใหญ่ดันเหงือกออกมามาก โดยเหงือกจะมีสีชมพูปกติ หรืออาจจะมีสีขาวซีด
- เหงือกบวมจากผลข้างเคียงของยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยาตัวดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าควรหยุดยา หรือจ่ายยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงแทนหรือไม่
- เหงือกบวมเพราะโรคปริทันต์ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษา ก่อนลุกลามไปทำลายกระดูกรองรับฟันจนทำให้ฟันโยก และสูญเสียฟันได้ในที่สุด
- เหงือกบวมจากการระคายเคืองเป็นระยะเวลานาน โดยมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง แต่มีสีชมพูเหมือนเหงือกปกติ
- เนื้องอกบริเวณเหงือกในหญิงตั้งครรภ์
- เหงือกบวมเป็นตุ่มเล็กๆ มีหนองไหล เป็นหลุมกว้าง เกิดจากฟันผุที่ลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน จึงมักพบเหงือกบวมในลักษณะนี้อยู่ใกล้ฟันผุ
- ก้อนมะเร็ง ลักษณะฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีอาการบวม ชา และลุกลามรวดเร็ว
เห็นอย่างนี้ เหงือกบวมคงไม่ใช่ปัญหาเล่นๆ ซะแล้ว ดังนั้น ทางที่ดีหากคุณยังไม่ประสบกับปัญหาเหล่านี้ ก็อย่าละเลยการดูแลสุขภาพฟันและช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ แปรงฟันอย่างถูกวิธี อย่างน้อย 2 เวลา ตอนเช้า และก่อนนอน โดยใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดร่วมด้วยจะยิ่งดี เข้ารับการขูดหินปูน และตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อย 6 เดือนครั้ง ที่ BFC Dental ทุกสาขา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาใหญ่ภายในช่องปาก และฟันของคุณ