ฟันร้าว ทำยังไงดี?

ฟันร้าว คือ การเกิดรอยร้าวหรือรอยแตกที่ผิวฟัน ซึ่งจะไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยจะแสดงอาการออกบ้างเมื่อคนไข้รับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด จะมีอาการเสียวฟันและเจ็บจี๊ดขณะเคี้ยวอาหาร นั่นหมายถึงการส่งสัญญาณว่าคุณกำลังมีฟันร้าว

ฟันร้าว อาการเป็นอย่างไร

อาการเริ่มแรกอาจจะดูไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ เพราะอาการที่จะเกิดขึ้นคือ เจ็บฟัน เสียวฟัน เมื่อกัดหรือรับประทานอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัดจะมีอาการเสียวฟัน และเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น แต่หากคนไข้มีอาการเจ็บปวดต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เพียงเวลารับประทานอาหาร ก็เป็นอาการบ่งบอกได้ว่าอาการฟันร้าวของคุณเริ่มมีปัญหาแล้ว ซึ่งอาจจะส่งผลไปถึงการอักเสบของเหงือกและรากฟันนั่นเอง

ฟันร้าว

สาเหตุฟันร้าว เกิดจากอะไรได้บ้าง

  • ใช้แรงในการกัดหรือการบดเคี้ยวอาหารที่มีลักษณะแข็งมากจนเกินไป
  • คนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องฟันอยู่ก่อนแล้ว เช่น ฟันที่มีหน้าที่ไว้บดเคี้ยวไม่สบกัน ทำให้ฟันข้างใดข้างหนึ่งใช้แรงในการบดเคี้ยวมาก
  • อุณหภูมิภายในช่องปากเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันบ่อยครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อเรารับประทานอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด
  • การนอนกัดฟัน ซึ่งจะทำให้ฟันมีการบดเคี้ยว และการกัดที่ค่อนข้างแรงขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ฟันเสื่อม ฟันสึก และฟันร้าวได้
  • มีรอยอุดฟันขนาดใหญ่ เนื่องจากการอุดฟันที่มีขนาดใหญ่จะทำให้ความแข็งแรงของฟันลดลง ทำให้เนื้อฟันเกิดรอยร้าวขึ้นได้ง่าย
  • เกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบกับฟันโดยตรง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ทะเลาะวิวาท การกีฬา หกล้ม เป็นต้น

รักษาได้อย่างไร เมื่อมี ฟันร้าว

เมื่อคนไข้มีฟันร้าวและแสดงอาการชัดเจนแล้ว ต้องรีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อประเมินอาการทันทีว่าต้องเข้ารับการรักษาในทิศทางใด โดยแนวทางการรักษามี ดังนี้

  1. รักษาและติดตามตามอาการ ในกรณีที่มีฟันร้าว แต่ยังมีอาการไม่รุนแรงมาก ยังไม่เกิดการเจ็บปวดต่อเนื่อง ทันตแพทย์ก็จะเฝ้าติดตามอาการของคนไข้เป็นระยะ โดยคนไข้อาจจะต้องปรับเรื่องอาหารการกินให้มีลักษณะอ่อนลง ไม่กัด ขบ เคี้ยว อาหารแข็ง และหมั่นดูแลรักษาความสะอาด รวมถึงสังเกตอาการภายในช่องปากของตนเองให้มากขึ้น
  2. อุดฟัน ทันตแพทย์อาจจะเลือกวิธีการรักษาด้วยการอุดฟันเพื่อซ่อมแซมตัวฟันบริเวณที่เกิดรอยร้าว
  3. การครอบฟัน เพื่อป้องกันการเกิดรอยร้าวเพิ่มเติม โดยระยะแรกทันตแพทย์จะประเมินโดยใช้วิธีการครอบฟันแบบชั่วคราว เพื่อให้ถึงระยะเวลาในการนัดใส่ครอบฟันจริง ซึ่งการครอบฟันจะมีอายุการใช้งานได้หลายปี หากคนไข้มีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดี
  4. รักษารากฟัน กรณีรักษารากฟันจะทำการรักษาต่อเมื่อคนไข้มีฟันร้าวค่อนข้างวิกฤติแล้ว เนื่องจากรอยร้าวมีความลึกไปจนถึงประสาทฟัน ซึ่งจะรักษาด้วยการนำโพรงประสาทฟันที่ได้ถูกทำลายแล้วไปซ่อมแซม และเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่โพรงประสาทฟันด้วยได้
  5. ถอนฟัน กรณีนี้ก็เกิดขึ้นสำหรับคนไข้ที่วิกฤติแล้วเช่นกัน ที่ไม่สามารถเก็บฟันที่เกิดรอยร้าวไว้ได้แล้ว เนื่องจากโครงสร้างฟัน ประสาทฟัน และรากฟันที่อยู่ข้างใต้นั้นได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทันตแพทย์จะประเมินว่าต้องได้รับการถอนฟันทันที

หากสังเกตตนเองได้แล้วว่ามีตนเองมีอาการและเข้าข่ายว่าเราจะมีฟันร้าว ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษา เพื่อให้ได้รับการประเมินและวินิจฉัยถึงอาการที่เกิดขึ้น เพราะหากคนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับฟันร้าวหรือมีรอยร้าวเป็นวงกว้าง ก็จะทำให้รากฟันเกิดการติดเชื้อและกระจายไปยังกระดูกและรอบๆ เหงือก ซึ่งร้ายแรงที่สุดคนไข้อาจจะสูญเสียฟันแท้ไปเลยก็ได้

การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีอยู่เสมอ ก็เป็นการป้องกันการเกิดฟันร้าวได้เป็นอย่างดีเช่นกัน และถ้าจะให้ดี การเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน ก็เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่งเพื่อให้เรามีสุขภาพช่องปากและฟันที่แข็งแรง

Recommended Posts
Contact Us

We're not around right now. But you can send us an email and we'll get back to you, asap.